ตัวอย่าง โครงสร้างแนวทำนองเพลงลาวดวงเดือน
โอ้
เส้นแสดงโครงสร้างแนวทำนองเพลงลาวดวงเดือน
แนวทำนองเป็นการนำเสียงสูงต่ำ สั้นยาว ดังเบามาปะติดปะต่อกัน แนวทำนองเป็นเนื้อหาหลักของดนตรี แนวทำนองเปรียบเสมือนเค้าโครงเรื่องว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร การนำเสียงแต่ละเสียงมาปะติดปะต่อกันเป็นทำนองเพลง แต่ละเสียงจะมีความสัมพันธ์กัน ความเป็นเอกภาพของกลุ่มเสียงหรือที่เรียกว่า วลีเพลง ประโยคเพลงที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟัง การผิวปากหรือฮัมเพลง เป็นการสร้างทำนองหรือจำทำนองแล้วนำมาประดับอารมณ์เมื่อต้องการ
ทำนอง
การฟังกระสวนจังหวะ เช่น ฟังกลองยาวนาน ๆ เกิดความเมื่อยหู แต่ถ้าหากว่ามีแนวทำนองเข้ามาประกอบย่อมทำให้น่าฟังขึ้น คณะกลองยาวจึงมีเครื่องดนตรีทำแนวทำนองคลอตามไปด้วย หรือการไปเชียร์กีฬา ส่วนใหญ่จะมีกลองให้จังหวะและมีเครื่องดนตรีให้ทำนองทำให้กองเชียร์ครึกครื้นอีกมากทีเดียว
4. ฟังเนื้อร้อง (text) หลังจากการฟังเสียง จังหวะ ทำนองแล้ว เรามุ่งฟังเนื้อร้อง เนื้อเรื่องหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเพลง ผู้ฟังจำนวนมากมุ่งฟังดนตรีเพื่อให้รู้เรื่อง ตัวดนตรีเองนั้นไม่เป็นเรื่อง แต่เนื้อร้องหรือเรื่องที่เกี่ยวกับเพลงสามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ฟัง บางครั้งดูเหมือนว่าเนื้อร้องหรือเรื่องเป็นหัวใจของเพลงเสียด้วยซ้ำไป
นักศึกษาคงเคยประทับใจเพลงดาวลูกไก่ที่ขับร้อง พร ภิรมย์ หลังจากฟังเพลงจบแล้ว บ้างก็นั่งน้ำตาคลอด้วยเหตุผลที่ว่าสงสารไก่ ทั้ง ๆ ที่ศิลปะการถ่ายทอดอารมณ์มีความสำคัญมาก แต่ผู้ฟังส่วนใหญ่เอาใจจดจ่ออยู่ที่เรื่องว่าจะจบลงอย่างไรเพลงที่มีเนื้อร้อง ตัวเนื้อร้องทำหน้าที่ดำเนินเรื่อง แต่ถ้าเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง อย่างเพลงบรรเลงก็พอจะหาเรื่องเกี่ยวกับเพลงมาเล่าสู่กันฟังให้เป็นเรื่อง เช่น จะฟังซิมโฟนีหมายเลข 3 อิโรอิกา (Eroica) ของเบโธเฟน (Beethoven) มีเรื่องเล่าว่าเบโธเฟนเขียนเพลงนี้สรรเสริญนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) เพราะเหตุที่ว่าเบโธเฟนและนโปเลียนมีความคล้ายคลึงกันในระยะต้น ๆ ของชีวิต คือมีแต่ความยุ่งเหยิงประกอบกับความบีบคั้นทางสังคมที่มีแต่ความขื่นขมในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นมูลเหตุอันสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมในฝรั่งเศส เบโธเฟนชื่นชมยินดีกับความยิ่งใหญ่ของนโปเลียนถึงกับเขียนเพลงให้ชื่อว่า โบนาปาร์ต ครั้นพอนโปเลียนสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง เบโธเฟนโกรธมากถึงกับขีดฆ่าชื่อโบนาปาร์ตออกแล้วตั้งชื่อใหม่ว่า อิโรอิกา สรรเสริญความยิ่งใหญ่จะเป็นใครก็ได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนโปเลียน
5. ฟังการเรียบเรียงเสียงประสาน (harmony) การเรียบเรียงเสียง คือการนำเอาเสียงมาจัดระบบ เอาเสียงมาซ้อนกันประสานกันตามกฎเกณฑ์ของแต่ละยุคแต่ละสมัยที่นิยมกัน เสียงประสานจะเป็นตัวที่ช่วยอุ้มเสียงดนตรีให้มีพลังทางอารมณ์เสียงประสานของดนตรีเป็นองค์ประกอบภายในที่ละเอียดอ่อนที่ช่วยเกื้อหนุนความงามของบทเพลง
คำว่าฮาร์โมนีหรือความประสานกันนั้น มีความหมาย 2 ประการด้วยกัน ประการแรก เป็นความหมายทั่ว ๆ ไป หมายถึงความผสมกลมกลืน ความคล้องกัน คู่ควรแก่กัน มีคำโบราณพูดถึงความประสานกันไว้มากมายหลายคำด้วยกัน อย่างเช่น กิ่งทองใบหยก ไม้เท้ายอดทองตะบองยอดเพชร ผีแห้งกับโลงผุ น้ำผึ้งเปรี้ยวมะพร้าวเน่า ซึ่งคำอุปมาเปรียบเทียบเหล่านี้หมายถึงความคล้องจองกัน ประสานกลมกลืนกัน ในขณะเดียวกันก็มีคำที่แสดงถึงความไม่สอดคล้องกัน เช่น ดอกฟ้ากับหมาวัด ขมิ้นกับปูน ผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นต้น ตัวอย่างเหล่านี้เป็นความขัดแย้งกัน ไม่สอดคล้องซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นหมายถึงฮาร์โมนีนั่นเอง ซึ่งมีความหมายที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องดนตรี
ประการที่สองฮาร์โมนีหรือการประสานคล้องจองในความหมายของดนตรีตะวันตกตั้งแต่สมัยเรเนซองส์ (renaissance) เป็นต้นมา ดนตรีตะวันตกเริ่มให้ความสำคัญของแนวเพลงหลัก โดยมีแนวอื่น ๆ เป็นแนวประสาน ความประสานคล้องจองกันนั้นดำเนินไปทั้งแนวราบและแนวตั้ง ขาดทำนองหลักไปแล้วก็ไม่เป็นเพลง ทุก ๆ แนวต่างก็ทำหน้าที่สนับสนุนทำนองหลัก เป็นความคล้องจองของเสียงที่นำมาเรียบเรียง จึงมักจะเรียกกันว่า “เรียบเรียงเสียงประสาน”
6. ฟังสีสันแห่งเสียง (tone colour) เป็นการฟังสีของเสียงว่ามีคุณภาพอย่างไร ศิลปะมีสีขาวเป็นพื้นก่อนที่ระบายสี ส่วนดนตรีมีความเงียบเป็นพื้น สีสันแห่งเสียงถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยที่เราไม่รู้ตัว การที่เรารู้ว่าใครพูดในขณะที่เรายังไม่เห็นตัว เพราะหูของเราสามารถจำแนกสีเสียงที่ได้ยินว่าแต่ละเสียงแตกต่างกันอย่างไร บางครั้งแม้แต่เสียงเดินของแต่ละคนก็สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร คนตาบอดอาศัยความแตกต่างของสีเสียงในการจำบุคคล ละครวิทยุอาศัยสีเสียงในการสร้างตัวละครว่าเสียงใดเป็นเสียงพระเอก เสียงใดเป็นเสียงตัวโกง หรือเสียงใดควรเป็นเสียงคนใช้ เรามักจะได้ยินคำว่าน้ำเสียง ซึ่งมักใช้กับผู้ประกาศวิทยุและโทรทัศน์ น้ำเสียงเป็นเรื่องสำคัญที่คำนึงถึง ผู้ที่ได้รับเลือกไปเป็นผู้ประกาศเพราะเป็นผู้ที่น้ำเสียงดีน้ำเสียงก็คือเสียงที่มีคุณภาพนั้นเอง
สีสันแห่งเสียงของดนตรีเป็นเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุและรูปแบบของเครื่องดนตรี ทั้งการเกิดของเสียง ดีด สี ตี เป่า (เขย่า ชัก ดูด) และพ่น ผ่านตัวกลางสื่อกลางที่ต่างกัน วัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรี เช่น เส้นลวด โลหะ เชือกที่ต่างกัน ฯลฯ สื่อกลางเหล่านี้ทำให้สีเสียงของเครื่องดนตรีมีความแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ดนตรีอาศัยความเงียบเป็นพื้นเสียง การที่จะฟังว่าสีเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิดนั้นเป็นอย่างไร เราต้องฝึกฟังเสียงเครื่องดนตรีชนิดนั้น ๆ โดยฟังเดี่ยว ๆ ก่อน เมื่อเรารู้จักเคยชินกับเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิดแล้ว ลองฟังว่าบทประพันธ์เพลงแต่ละบทใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้าง ตรงไหน อย่างไร ไพเราะไหม ชอบหรือไม่ชอบ
ความชอบความพอใจสีสันแห่งเสียงเครื่องดนตรีชนิดใดเป็นพิเศษเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน ความแตกต่างของสีสันแห่งเสียงเกิดขึ้นจากเหตุผล 3 ประการด้วยกัน ประการแรก เป็นเครื่องดนตรีอะไร การกำเนิดของเสียงเป็นอย่างไร เป็นเครื่องสาย เครื่องเป่า หรือเครื่องเคาะ ประการที่สอง ศักยภาพของเครื่องดนตรีเป็นอย่างไร เครื่องดนตรีมีความสมบูรณ์ในตัวของมันเองแค่ไหน และประการสุดท้ายความสามารถของนักดนตรีในการใช้เครื่องดนตรีบรรเลงถ่ายทอดอารมณ์ได้ถึงอารมณ์เพลงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้ฟังเป็นผู้วินิจฉัยด้วยตัวเอง
7. ฟังรูปแบบของเพลง (form) รูปแบบหรือโครงสร้างของเพลงเป็นการฟังดนตรีอย่างภาพรวม ๆ ทั้งหมด การที่เราจะรู้ว่าลักษณะอย่างไรเป็นผู้หญิง ลักษณะอย่างไรเป็นผู้ชาย ผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกันอย่างไรนั้นอาศัยโครงรูปแบบเป็นหลักดนตรีก็เช่นเดียวกัน เพลงท่อนเดียว 2 ท่อน 3 หรือ 4 ท่อน บรรเลงเดี่ยว หรือบรรเลงเป็นวง สิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างและรูปแบบของดนตรี เพลงตับ เพลงเถา เพลงเรื่อง โซนาตา คอนแชร์โต ซิมโฟนี เพลงแต่ละบทจะไม่เหมือนกัน การเรียนรู้โครงสร้างของบทเพลงจากตำราเรียนนั้นเป็นแต่เพียงโครงสร้างอย่างคร่าว ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้นเพลงแต่ละบทมีความแตกต่างกัน รูปแบบของบทเพลงแต่ละบทเป็นเอกลักษณ์จำเพาะของบทนั้น ๆ
การฟังดนตรีก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้เค้าโครงใหญ่ รู้เค้าโครงย่อย ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยการเรียนรู้โดยการฟัง
8. ฟังอย่างวิเคราะห์ (analysis) การฟังอย่างวิเคราะห์นั้นเป็นการฟังเพื่อหารายละเอียดของผลงานชิ้นนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร มุ่งวิเคราะห์ในรายละเอียด เช่น เสียงสูง ต่ำ ดัง เบา หนา บาง เป็นต้น โดยอาศัยหลักการทฤษฎีทางดนตรี ความรู้ ความเข้าใจบวกกับประสบการณ์ ฟังอย่างนักฟัง นักดนตรี นักเรียนดนตรี นักวิจารณ์ กรรมการตัดสินการประกวดดนตรี แต่ละฝ่ายก็มีเกณฑ์ในการฟังที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการฟัง การฟังดนตรีอย่างวิเคราะห์นั้นไม่ได้มุ่งเพื่อความเพลิดเพลินแต่อย่างใด แต่เป็นการฟังโดยมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ฟังเพื่อจะวิเคราะห์ว่าเป็นผลงานของใคร สมัยใด ใช้เครื่องดนตรีอะไรในการบรรเลง แต่งในรูปแบบใด การประสานเสียงเป็นอย่างไร เป็นต้น
9. ฟังเพื่อสุนทรียะ (aesthetic) การฟังดนตรีเพื่อให้เกิดความซาบซึ้งเป็นประโยชน์ของชีวิต เป็นการฟังที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เพราะการฟังประเภทนี้เป็นเรื่องของผู้ที่จะเลือกบริโภคให้เหมาะสมกับตน ผู้ฟังอาจจะมีความพอใจอยู่ในระดับใดระดับหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว เพียงความสุขส่วนตัวที่จะเลือกฟังในสิ่งที่ตนชอบโดยอาศัยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น